Vivoactive 3 Upgraded! กับการเปิดตัวของ Garmin Venu และ Vivoactive 4 พร้อมกัน ไม่ต้องสับสนกับชื่อรุ่นแต่อย่างใด เพราะทั้งสองรุ่นนี้ต่างกันเพียงหน้าจอและขนาด นอกจากนั้น ความสามารถ ฟีเจอร์อื่นๆ เหมือนกันทุกประการ

ความสามารถที่อัพเกรด และความเปลี่ยนแปลง

  • รองรับการฟังเพลงผ่าน Spotify, Amazon Music, Deezer และ iHeartRadio
  • Vivoactive 4 หน้าจอสี หน้าปัดมีขนาด 45mm ระบบสัมผัส
  • Vivoactive 4S หน้าจอสี หน้าปัดมีขนาด 40mm ระบบสัมผัส
  • เพิ่มปุ่มเข้าไปอีกปุ่ม (รวมเป็น 2 ปุ่ม) ใช้กับ Lap, ปุ่มถอยหลัง และ ใช้เป็นทางลัดเข้าเมนู
  • เพิ่มความสามารถ ติดตามการดื่มน้ำ (Hydration Tracking) 
  • ระบบคาดการณ์เหงื่อที่เสียไปหลังจากออกกำลังกายเสร็จ
  • วัดประสิทธิภาพการหายใจทั้งวันรวมถึงตอนนอน
  • ฟีเจอร์ Breathwork ฝึกการหายใจ
  • ฟีเจอร์ แสดงภาพเคลื่อนไหวการออกกำลังกาย สำหรับ Strength, Cardio, Yoga, Pilates
  • ออกแบบการออกกำลังกาย Yoga และ Pilates ได้เองผ่าน Garmin Connect 

เริ่มที่เรือนแรกกับ Garmin Venu กับสีสันหน้าจอที่โดดเด่น โดยมีขนาดตัวเรือน และ สายที่เล็กลง (เมื่อเทียบกับ Vivoactive 4) ด้วยขนาดตัวเรือนเพียง 43 มม. หน้าปัด 1.2 นิ้ว และ สายขนาด 20 มม. ใช้หน้าจอรูปแบบ AMOLED สำหรับคนชอบหน้าจอคมชัด และ สีสันจัดจ้าน มีขนาดตัวเรือนกระทัดรัดเหมาะกับคุณผู้หญิง หรือ คนที่ข้อมือเล็ก จึงทำให้เลือกใส่ได้อย่างลงตัวและมีสไตล์

กลับมาที่ Garmin Vivoactive 4 ที่มองเผินๆเหมือนจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิม แต่จริงๆแล้วเมื่อได้ลองสัมผัสและใช้งานมา ถือได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอยู่พอสมควร เริ่มที่ขนาด มาคราวนี้ได้อัพไซส์ขึ้น ด้วยขนาดตัวเรือน 45 มม. หน้าปัด 1.3 นิ้ว และ สายที่กว้าง 22 มม. จึงทำให้มีขนาดที่แตกต่างกว่า (Vivoactive 3 Music และ Venu) จุดตรงนี้เองที่เหมาะกับคนที่ชอบสมาร์ทวอทช์ขนาดกลางๆ ใส่แล้วดูเต็มข้อมือ ไม่เล็ก หรือ ใหญ่จนเกินไป

หลังจากที่ได้ลองใส่จริงทั้ง 2 รุ่นแล้ว ต้องบอกต่อถึงคนที่ข้อมือใหญ่ หรือ ข้อมือผู้ชาย ที่กำลังคิดจะเลือก Garmin Venu ต้องยอมรับในเรื่องขนาดกันก่อน อาจไม่เหมาะกับข้อมือใหญ่ๆสักเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่ชอบสมาร์ทวอทช์เรือนเล็ก เบาๆ กระทัดรัด ก็สามารถจัด Garmin Venu ได้เลย ส่วน Garmin Vivoactive 4 เรือนนี้มีขนาด และ การสวมใส่ ที่ไม่มีข้อติ แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับคนที่ข้อมือเล็กมากๆ ที่ใส่แล้วดูแล้วเทอะทะ และ ไม่กระชับข้อมือ กว่ารุ่น Garmin Venu 

 

ดีไซน์รอบตัวเรือน

  • แทบจะไม่ต้องบอกเลยว่ารุ่นไหนคือ Garmin Venu หรือ รุ่นไหนคือ Garmin Vivoactive 4 เพราะเมื่อมองไปทั้ง 2 รุ่นนี้ จะเห็นถึงความแตกต่างที่หน้าจอชัดกว่า สีสดกว่า นั่นก็คือ Garmin Venu นั่นเอง และนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้ 2 รุ่นแตกต่างกันนั่นเอง โดยไม่ต้องถามว่าคุณสมบัติอื่นๆแตกต่างกันไหม เพราะภายในทุกอย่างเหมือนกันหมด แต่เพียงเพิ่มเงิน 1,000 บาท เพื่ออัพเกรดเป็นจอ AMOLED เพียงเท่านั้น
  • นอกจากจอ AMOLED ในรุ่น Garmin Venu สิ่งที่สร้างความแตกต่าง คงเป็นขนาดของ Garmin Vivoactive 4 ที่ใหญ่โตขึ้นจาก Garmin Venu ทั้งตัวเรือน และ สายนาฬิกา

 

หน้าจอ

  • ความสวยงามหน้าจอ AMOLED ที่มีเฉพาะใน Garmin Venu เท่านั้น จะสังเกตได้ถึงสีดำที่มีความมืดสนิท และในช่วงเฉดสีต่างๆจะให้ความสว่างและสดใส อีกทั้งความคมชัดที่ยกให้เป็นที่สุด เพราะ Garmin Venu เป็นรุ่นแรกของ Garmin ที่ใส่หน้าจอ AMOLED เข้ามา ซึ่งต่อไปในรุ่นต่างๆของ Garmin คงมีนาฬิกาที่ใช้หน้าจอ AMOLED ออกตามเรื่อยๆ
  • มาเปรียบเทียบหน้าจอ ระหว่าง Garmin Vivoactive 4 และ Garmin Venu ให้ชมแบบชัดๆ จะเห็นได้ถึงช่วงเฉดสีที่แตกต่างกันอย่างมาก อย่างสีดำที่ Vivoactive 4 ยังคงไม่มืดสนิท และ โทนสีต่างๆยังคงให้เฉดสีที่ไม่จัดจ้าน แต่ทั้ง 2 รุ่น ยังคงใช้ระบบสัมผัสหน้าจอเป็นการควบคุมหลักอยู่ ซึ่งคุณสมบัติหน้าจอ AMOLED เป็นจุดเด่นหลักที่ทำให้ Garmin Venu  และ Garmin Vivoactive 4 แตกต่างกัน โดยภายในและคุณสมบัติอื่นๆเหมือนกัน จึงขอย้ำกันอีกสักรอบ
  • ด้วยความเคยชินสำหรับใครที่เคยใช้นาฬิกา Garmin รุ่นก่อนๆ จากหน้าจอรูปแบบปกติ พอเปลี่ยนมาใช้ Garmin Venu จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับใครที่เลือก Garmin Vivoactive 4 ต้องบอกเลยว่าหน้าจอแสดงผลก็ไม่ได้แย่ เพียงแต่เฉดสีน้อยลง โดยรวมแล้วไม่ได้มีผลกระทบต่อการใช้งานและการออกกำลังกาย

วัสดุที่ทำการบ้านมาได้ดี เพราะรอบแรกที่ Garmin Vivoactive 3 เปิดตัวออกมา ทาง Garmin ได้ใส่ขอบหน้าปัดที่เป็นสแตนเลสเข้ามา แต่ในตอนที่ Garmin Vivoactive 3 Music เปิดตัวกลับเอาออกขอบสแตนเลสออก และ ใช้หน้าจอรูปแบบโค้งเข้ามาทดแทน ซึ่งลดความแข็งแรงลง อีกทั้งผู้ใช้งานต้องระมัดระวังมาขึ้น กลับมาคราวนี้ Garmin Vivoactive 4 และ Garmin Venu ได้กลับมาใช้ขอบหน้าปัดที่สแตนเลสอีกครั้ง ที่อัพเกรดความดูดี และ แข็งแรงขึ้น จึงทำให้มั่นใจได้ตลอดการใช้งาน

  • ส่วนด้านหลังตัวเรือน ทุกอย่างเหมือนกันหมด ถ้าเอาชื่อรุ่นออกก็แทบจะไม่รู้ว่ารุ่นอะไร เพราะเซนเซอร์วัดชีพจร และ ช่องเสียบสายชาร์จ ใช้รูปแบบเดียวกันหมด แต่ถ้ามองดีๆ มีอีกหนึ่งจุดที่ไม่เหมือนกัน นั้นก็คือ สายนาฬิกานั้นเอง เพราะ Garmin Vivoactive 4 ใช้งาน Quick Release ในขนาด 22 มม. แต่ Garmin Venu ใช้ขนาดสายที่เล็กกว่า เป็น Quick Release ในขนาด 20 มม. ซึ่งเปลี่ยนได้ง่ายมากๆ เพียงปลดสลักเข้า/ออก โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือให้เสียเวลา
  • และเมื่อหันมาดูด้านขวาของตัวเรือนจะพบกับ 2 ปุ่ม (จากรุ่นเดิม Vivoactive 3 Music จะมีเพียง 1 ปุ่มเท่านั้น) จากการใช้งานจริงกับปุ่มที่เพิ่มขึ้นมานั้น ได้แค่เพียงเพิ่มความสะดวกาสำหรับการเข้าเมนูต่างๆเพียงเท่านั้น สำหรับการใช้งานควบคุมแบบปกติยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ

 

ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน

  • สำหรับการเลือกเปลี่ยนหน้าปัดนาฬิกา ฝั่ง Garmin Venu จะมีลูกเล่นของหน้าปัดเยอะกว่า เพราะด้วยสีสันของหน้าจอที่รองรับกับหน้าปัดแบบสวยๆ ซึ่งการแสดงผลทั้ง 2 รุ่นเลือกปรับแต่งได้หลากหลายด้วยข้อมูลแสดงผลบนหน้าปัด
  • ไม่ต้องเลื่อนเช็คดูข้อมูลประจำวันให้วุ่นวาย เพราะในวิตเจ็ตรูปแบบใหม่จะรวบรวมข้อมูลสำคัญไว้ในหน้าเดียวกัน เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่ายขึ้นสำหรับการดูเพียงครั้งเดียว

 

2 สิ่งใหม่ที่ต้องลองใช้

  • Body Battery ตรวจวัดพลังงานในร่างกาย เพื่อดูความพร้อมของพลังงานคงเหลือ ให้เพียงพอต่อการออกกำลังกาย หรือ หากพลังงานเหลือน้อย ก็ควรหยุดพักผ่อน
  • การติดตามการหายใจ ข้อมูลบันทึกการหายใจ ระหว่างวัน หรือ กิจกรรมต่างๆ

โดยสายสถิติ ก็ยังมีกราฟให้ดูข้อมูลแบบย้อนหลัง ซึ่งจำนวนชั่วโมงย้อนหลังจะอ้างอิงตามข้อมูลนั้นๆ โดยกราฟเหล่านี้จะช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และ แนวโน้มของสุขภาพในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องมานั่งจับความรู้สึกของตัวเองอีกต่อไป

  • ส่วนคุณสมบัติสำหรับคุณผู้หญิง "การติดตามรอบประจำเดือน" ก็เป็นฟังก์ชั่นใหม่ที่เพิ่มเข้ามา การติดตามรอบเดือน ใช้สำหรับบันทึกอาการทางร่างกาย หรือ อารมณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับการฝึกซ้อม โดยเริ่มแรกต้องเข้าไปตั้งค่าใน Garmin Connect app ก่อน ถ้าฟังก์ชั่นนี้ไม่ขึ้นในหน้าแอพ แสดงว่าคุณยังไม่ได้กำหนดเป็นเพศ "หญิง" 
  • เมื่อตั้งค่าใน Garmin Connect app เสร็จเรียบแล้ว เลื่อน หรือ เพิ่ม วิตเจ็ต ก็จะพบกับรายละเอียดต่างๆที่เราได้บันทึกไว้ พร้อมเลือกเปลี่ยนข้อมูลประจำเดือนของคุณผู้หญิงได้อิสระ
  • สำหรับใครที่ดื่มน้ำน้อย หรือ ไม่รู้ว่าในหนึ่งวันดื่มน้ำไปเท่าไหร่ ในวิตเจ็ตก็ได้เพิ่ม "การติดตามการดื่มน้ำ" เพื่อให้คุณได้บันทึกข้อมูลการดื่มน้ำตามจำนวน มล. พร้อมตั้งเป้าหมายที่ดีต่อสุขภาพ ด้วยการแสดงผลขอบวงกลมสีฟ้า เมื่อทำตามเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง
  • ส่วนสาย "ฟังเพลง" ก็มีมาให้ครบทั้งการโอนเพลงจากคอมในรูปแบบไฟล์ MP3 จากโปรแกรม Garmin Express ที่เพียงแค่เสียบสายที่แถมเข้ากับ นาฬิกา + คอมพิวเตอร์ และสมาชิก (พรีเมี่ยม) ของ Spotify สามารถสร้าง Playlist เพลงโปรดไว้ แล้วโอนมาเก็บไว้ที่นาฬิกาได้ง่ายๆผ่าน Wifi ซึ่งทำผ่านสมาร์ทโฟน โดยทั้งหมดนี้รับฟังจากหูฟังบลูทูธรุ่นใดก็ได้ ที่ต้องนำมาเชื่อมต่อกับนาฬิกาก่อนฟังเพลง
  • ทำงานมาเหนื่อยๆทั้งวัน แล้วจะรู้ได้ไงว่าวันนี้ควรงดออกกำลังกาย งั้นมาลองใช้การติดตามความเครียด เพื่อพักฟื้น หรือ ผ่อนคลายด้วยการหายใจช้าๆ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายให้กลับมาปกติ
  • Pulse Ox เซนเซอร์ที่มีประโยชน์ในเรื่องการวัดความอิ่มตัวของออกซิเจน โดยในระหว่างวันเข้าไปเช็คได้จากวิตเจ็ต และ ยังช่วยบอกข้อมูลในด้านคุณภาพขณะนอนหลับ ซึ่งการเปิด เซนเซอร์  Pulse Ox ไว้ตลอด ก็ทำให้กินพลังงานแบตเตอรี่อยู่พอสมควร

 

ใช้งานจริงกับการออกกำลังกาย

  • จะออกกำลังกายโหมดไหนบ้าง ภายใน  Garmin Vivoactive 4 และ Garmin Venu ก็มีมาให้ครบในโหมดพื้นฐานถึง 20 โหมด แต่อย่ามาถามหาโหมด วิ่งเทรล หรือ โหมดไตรกีฬา เพราะทั้ง 2 รุ่นนี้ไม่ได้ออกแบบให้ตอบโจทย์กีฬาประเภทนั้น ซึ่งจะเหมาะสาย วิ่ง ปั่น ว่ายน้ำสระ ฟิตเนส และ กอล์ฟ เป็นโหมดหลักๆมากกว่า
  • สิ่งใหม่ที่ต้องร้องว้าว! "แอนิเมชั่นการออกกำลังกาย" ที่เพิ่มมาให้ทั้ง 2 รุ่นเช่นกัน สำหรับคนที่ทำท่าออกกำลังกายไม่ถูกต้อง หรือ ไม่รู้จะออกกำลังกายท่าไหน ในโหมด ความแข็งแรง คาร์ดิโอ โยคะ และ พิลาทิส ได้เพิ่มลูกเล่นในเมนู "เวิร์คเอ้าท์" ให้ได้เลือกใช้แอนิเมชั่นการออกกำลังกายตามกิจกรรม เพื่อให้คุณได้ทำตามจนจบการฝึก รวมไปถึงมีการพักเซต และแสดงระยะเวลาการออกกำลังกายตามโปรแกรม อย่างถูกต้องและตรงเป้าหมาย
  • การวิ่งแบบเดิมๆ ถ้าน่าเบื่อไปก็คงหมดสนุก งั้นมาลอง Garmin Coach แล้วออกไปวิ่งกันเถอะ เหมือนได้มีโค้ชวิ่งส่วนตัวมาค่อยแนะนำการซ้อมวิ่งอยู่ใกล้ๆ เพียงกำหนดเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งค่อนข้างละเอียด โดยจะทำให้คุณเตรียมตัวไปวิ่ง 5K 10K หรือฮาล์ฟมาราธอน ได้อย่างมั่นใจ และซ้อมได้ถูกวิธี โดยมีโค้ชให้เลือกตามความชอบ ซึ่งครั้งแรกต้องเข้ามาตั้งค่าที่ Garmin Connect app ก่อน
  • เมื่อกำหนดรายละเอียดและเป้าหมายจาก Garmin Coach เรียบร้อยแล้ว โค้ชจะคอยบอกว่าในสัปดาห์นั้นๆควรซ้อมในแนวทางไหน และ ขณะวิ่งจะมีข้อมูลแนะนำเพื่อให้ทำตามได้ถูกต้องตามโปรแกรมการซ้อม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายของแต่ละคน
  • ในด้านการแสดงผลของข้อมูลขณะออกกำลังกาย ทั้ง 2 รุ่นทำได้ดีขึ้น และ ดูง่ายกว่าเดิม โดยแสดงผลพร้อมกันในหนึ่งหน้าได้ถึง 4 ช่องข้อมูล สามารถกำหนดข้อมูลได้ด้วยตนเอง รวมไปทั้งการแสดงโซนชีพจรที่ชัดเจนขึ้น
  • ฟังก์ชั่น Auto ก็มีมาครบ ทั้งนับรอบ หรือ หยุดอัตโนมัติ อีกทั้งฟังก์ชั่นสำหรับคนชอบลืมโซนหัวใจ ก็สามารถตั้งให้นาฬิกาแจ้งเตือนโซนตามที่กำหนดได้ ไม่ว่าจะหนักไป เบาไป นาฬิกาจะคอยสั่นเตือนให้คุณรักษาระดับหัวใจให้อยู่ในช่วงที่กำหนดไว้
  • สำหรับมือใหม่ หรือ การซ้อมหนักๆ ในด้าน "คุณสมบัติความปลอดภัยและการติดตาม" ก็มีมาให้ได้ใช้งาน แต่ต้องบอกว่าคุณสมบัติเหล่านี้ต้องพกพาสมาร์ทโฟนไปด้วย เพื่อการส่งข้อความของตำแหน่ง และ การขอความช่วยเหลือ โดยใช้สมาร์ทโฟนส่ง SMS ไปยังรายชื่อที่กำหนดไว้ใน Garmin Connect app
  • เกือบลืมไปเลย สำหรับนักว่ายน้ำ ทั้ง 2 รุ่นนี้ก็มีโหมดว่ายน้ำ แต่เป็นโหมดว่ายสระ ที่มีให้เลือกขนาดสระได้ตามต้องการ พร้อมปรับเปลี่ยนข้อมูลแสดงของสถิติได้ตามต้องการ (ซึ่งเซนเซอร์วัดชีพจรในนาฬิกาจะไม่สามารถวัดในน้ำได้)

 

สรุปปิดท้าย

ถ้าคุณมีรุ่นเดิมอย่าง Garmin Vivoactive 3 อยู่แล้ว และพอใจในขนาด Garmin Venu ถือว่าคุ้มค่าในการอัพเกรดรุ่นใหม่ ทั้งความสดใหม่ของหน้าจอที่สามารถเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานแบบเดิมๆ ไปสู่หน้าจอสีสันสดใสและคมชัด อีกทั้งฟังก์ชั่นด้านสุขภาพที่เพิ่มเข้ามา ส่วนคนที่ยังไม่เคยใช้ และกำลังลังเลอยู่ เลือกเป็นรุ่น Garmin Vivoactive 4 ก็ค่อนข้างตอบโจทย์ ด้วยราคาที่ถูกกว่า 1,000 บาท แต่ได้มาด้วยฟังก์ชั่นที่ครบ จบในเรือนเดียว เพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน และการเริ่มต้นออกกำลังกายไปจนถึงในระดับกลาง