ทาง Garmin ได้ปล่อยฟังก์ชั่นทีเด็ดให้ผู้ได้ใช้ในโหมด Virtual Run เพื่อเอาไว้ใช้วิ่งกับแอปอย่าง Zwift ต้องบอกเลยว่ากระแสตอบรับจากผู้ใช้งานนั้นดีมากๆ เพราะที่ผ่านมานั้นยังไม่มีนาฬิกาเจ้าไหนที่สนับสนุนการ re-broadcast ผ่านระบบ  Bluetooth Smart ส่วนมากจะต้องใช้อุปกรณ์เสริมระบบ ANT+  จึงถือว่า Garmin  เป็นเจ้าแรกและเป็นเพียงเจ้าเดียวที่สามารถทำได้ และข่าวดีคือในตอนนี้ Garmin Forerunner 245, 945 และ Fenix 6 series และรุ่นใกล้เคียงในอนาคตนั้นได้ใช้งานฟังก์ชั่นนี้อย่างเต็มรูปแบบ

 

อย่างไรก็ตามในการอัปเดตครั้งนี้ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Garmin เลยก็ว่าได้ โดยที่จะให้เราจับคู่นาฬิกาเรือนโปรดเรา ให้ใช้งานเข้ากับแอป Zwift ไว้สำหรับการฝึกซ้อม แบบ Indoor หรือวิ่งออกกำลังกายด้วยลู่วิ่งในบ้าน โดยที่เราไม่ต้องใช้ Foot Pod อีกต่อไป! เพราะไม่เพียงแค่ Broadcast อัตราการเต้นของหัวใจ แต่ยังรวมไปถึงอัตราความเร็ว และรอบขาในการวิ่งอีกด้วย  เชื่อมต่อ 1 ได้ถึง 3 ข้อมูลการวิ่ง

และสำหรับ Forerunner 245 และ 945 ในการอัพเดตครั้งนี้ก็ยังเพิ่ม Widget Glance เข้ามา ซึ่งเป็นรูปแบบการแสดง Widget แบบใหม่ที่มีอยู่แค่ในรุ่น Fenix 6 series โดยจะแสดงข้อมูลค่าต่างๆได้ถึงสามค่าในหน้าจอ แทนที่จะแสดงแค่ค่าเดียวใหญ่ๆ บอกเลยว่าสะดวกสบายมาก ไม่ต้องกดเลื่อนดูค่าต่างๆทีละค่าอีกต่อไปครับ

 

อยากใช้กับ Zwift ต้องทำยังไงละ ?

อย่างแรกเลยให้เราทำการอัพเดตนาฬิกา Garmin 245/945 , Fenix 6 series ของเราให้เป็นเฟิร์มแวร์ตัวล่าสุดก่อน (ตั้งแต่ 4.10 ขึ้นไป ) และหลังจากที่อัพเดตตัวเฟิร์มแวร์เรียบร้อยแล้วให้เราเข้าไปที่ Activities&Apps บนนาฬิกาเพื่อเพิ่มโหมด Virtual Run และเมื่อใช้งานนาฬิกาเราจะแสดงผลค่าอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราความเร็ว และรอบขา

หลังจากที่ตั้งค่านาฬิกาของเราเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าไปที่แอป Zwift ในมือถือของเราได้เลย อย่าลืมลงทะเบียนแอปและเปิดบลูทูธนาฬิกากับมือถือของเราด้วยนะ จากนั้นในแอปก็จะแสดงค่าเซ็นเซอรสามค่า ให้เรากดเชื่อมต่อทุกๆอันด้วยนาฬิกาของเราได้เลย

เมื่อการเชื่อมต่อพร้อมแล้ว เราก็มาเริ่มวิ่งกันได้เลย! โดยในหน้าจอแอป Zwift จะแสดงค่าสถานะของเราต่างๆแบบ real-time โดยหน้าตา UI ของ  Zwift app จะคล้ายกับการเล่มเกมส์ ในรูปแบบมุมมองบุคคลที่ 3 เห็นฉากไปพร้อมๆกัน และแสดงผลข้อมูลสถิติความเร็ว, ระยะทาง, รอบ, เส้นทาง และ สถิติผู้ที่อยู่บนสนามใกล้ๆ  

ส่วนในด้านการตอบสนองนั้นก็ทำได้ดีเหมือนกับปกติเลย แค่บางครั้งอาจจะมีดีเลย์เล็กน้อยในด้านของอัตราความเร็ว ประมาณ 4-5วินาที อย่างไรก็ตามการแสดงผลขณะที่วิ่งที่มีการดีเลย์นั้นก็เหมือนกับเวลาเราวิ่งลู่วิ่งปกติ ที่มักจะช้าไป 3-4วินาที จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาต่อการใช้งานครับ

มาในเรื่องของการบันทึกข้อมูลสถิติลงในนาฬิกากันบ้าง เมื่อเราจับคู่กับแอปเรียบร้อยและเริ่มออกกำลังกาย ให้เรากด Start จากตัวนาฬิกาและเริ่มวิ่งเมื่อวิ่งเสร็จก็ให้กดบันทึก หรือทิ้งตามปกติได้เลย โดยค่าของ Pace อัตราการเต้นของหัวใจ ความเร็ว รอบขาที่เราออกกำลังกายได้จะตรงกันทั้งในนาฬิกาและในแอป Zwift ส่วนค่าของระยะทาง จะไม่คลาดเคลื่อนหรือตรงกัน ขึ้นอยู่กับเวลาที่เรากด Start ตอนเริ่มวิ่งครับ

 

สรุปภาพรวมการใช้งาน

สำหรับผู้ใช้งานที่ชื่นชอบการออกกำลังกายที่บ้าน หรือแม้กระทั่งช่วงกักตัวโควิดนี้เอง ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีมากๆเลยครับ โดยสามารถตัดปัญหาการใช้อุปกรณ์เสริมอย่างสายคาดอก หรือ Foot Pod เพียงใส่แค่นาฬิกา Garmin เรือนเดียว ก็สามารถเปลี่ยนการวิ่งอันแสนปกติธรรมดา ให้กลายเป็นการวิ่งที่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป แม้ว่าการนับก้าวนั้นยังอิงจากการแกว่งแขนเป็นหลัก อาจจะไม่ได้แม่นยำเท่าตัว Foot Pod แต่หากได้ Calibrate นาฬิกาได้เหมาะสมแล้ว ก็ถือว่าใกล้เคียงเลยทีเดียวครับ และความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ มันสามารถใช้กับการปั่นจักรยาน Indoor ในแง่ของการวัดอัคราการเต้นของหัวใจด้วยเซ็นเซอร์ออปติคอล HR ได้เช่นกัน  เพียงแค่คุณสวมนาฬิกา เข้าไปที่แอป Zwift จับคู่นาฬิกา จากนั้นคุณก็สามารถเพลิดเพลินกับการปั่นจักรยานในโลกเสมือนได้เลยครับ  จากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ถือเป็นก้าวอันแสนชาญฉลาดของ Garmin เลยครับ และในอนาคตเราคงจะได้เห็น Garmin รุ่นใหม่อีกหลายๆรุ่น ที่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นนี้ได้เช่นกันครับ

 

แถมอีกนิดกับช่วง Q&A

ทางเราได้รวบรวมบางคำถามี่คิดว่าหลายๆท่านอาจจะสงสัย และอาจจะเป็นประโยชน์ในการใช้งานอีกด้วย ไปดูกันเลยครับว่ามีอะไรบ้าง

 

Q1 : ANT+ คืออะไร? Bluetooth Smart คืออะไร? แตกต่างกันยังไง?

A1 : สำหรับทั้งสองตัวนี้เป็นระบบเชื่อมต่อแบบไร้สายที่ใช้กับอุปกรณ์ฟิตเนสในปัจจุบันครับ สำหรับข้อแตกต่างหลักๆของสองตัวนี้คือ
ANT+ เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์ฟิตเนสโดยเฉพาะ มีประสิทธิภาพ แต่ค่อนข้างซับซ้อน และรองรับแค่อุปกรณ์ฟิตเนสอย่างเดียว
Bluetooth Smart พัฒนาต่อยอดมาจาก Bluetooth เป็นระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ฟิตเนสแบบใหม่ ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน แต่เนื่องจากความใหม่ของมัน อุปกรณ์ Fitness บางตัวจึงยังไม่รองรับ
หากใครยังสงสัย ไม่หายข้องใจ หรือมีคำถามอยู๋ก็สามารถเข้าไปอ่านบทความของเราในเรื่องนี้ตามลิงค์ด้านล่างได้เลยครับ

https://tsmactive.com/blog/bluetooth-smart-and-ant-differences

 

Q2 : ระหว่างใช้ Garmin - Virtual Run กับ Zwift App VS ใช้ Zwift Run Pod กับ Zwift App แบบไหนดีกว่ากัน ?

A2 : สำหรับในกรณีนี้ การใช้นาฬิกาจะได้ความหลากหลายของข้อมูลมากกว่า เพียงใช้นาฬิกาเรือนเดียว เราสามารถติดตามรอบความเร็ว นับก้าวโดยอ้างอิงจากการแกว่งแขนของเรา และ ค่า HR ไปพร้อมๆกันได้ โดยที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอะไรอีกมากมาย สะดวก แต่ค่าที่ได้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนบ้าง เหมาะกับผู้ที่ชอบออกกำลังกาย อยากลองออกกำลังกายรูปแบบใหม่ และไม่ได้นำค่าที่ได้ไปใช้งานต่อ แต่สำหรับการใช้ Zwift Pod จะเป็นการเจาะจง จะได้แค่ข้อมูล Speed และ Cadance จากการวิ่ง ส่วน HR เราต้องใช้อุปกรณ์ HRM เสริม แต่ค่าที่ได้จะแม่นยำกว่ามาก เหมาะกับนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการฝึกซ้อมเตรียมตัววิ่งแบบมาราธอน เพื่อนำข้อมูลค่าที่ได้มาไปพัฒนาต่อครับ

 

Q3 : แล้วเราสามารถใช้สายคาดอกวัดเซนเซอร์ชัพจรแบบ ANT+ คู่กับนาฬิกา Garmin ขณะที่ใช้แอพ Zwift ได้ไหม? และหากใช้สายคาดอก ค่าที่ส่งไปจะเป็นแบบ ANT+ หรือ Bluetooth Smart ?

A3: สามารถใช้ได้ครับ เมื่อเราใช้สายคาดอกอย่าง HRM-TRI, HRM-RUN หรือแม้กระทั่งสายคาดอกแบบ Classic ของ Garmin ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ระบบ ANT+ เท่านั้น เมื่อเราจับคู่กับนาฬิกา Garminมันจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น Bluetooth Smart Strap อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Garmin จะใช้ค่าตัวเลขที่สายเหล่านั้นวัดได้มาเป็นข้อมูล แทนที่จะใช้ค่าที่วัดได้จาก Sensor โดยตรง และส่งค่าเหล่านั้นแบบ Bluetooth Smart แทน ซึ่งการใช้สายคาดอกจะให้ค่า HR ที่แม่นยำขึ้น สำหรับบางท่านที่อยากได้ค่าที่ตรงเป๊ะๆก็สามารถใช้วิธีนี้ได้ครับ 

 

Q4 : แล้วตัว Foot Pod ละ เราสามารถใช้เพื่อส่งค่ารอบความเร็ว และนับก้าวให้ไปแสดงในแอป Zwift คู่กับนาฬิกาได้ไหม ?

A4 : ได้ครับ กรณีนี้จะคล้ายๆกับสายคาดอกเลยครับ ก็คือใช้ค่าของตัวเลขที่ได้ส่งไปยังแอป Zwift แทนที่จะใช้ค่าจากเซนเซอร์โดยตรง แต่จะต้องเป็น Foot Podที่สามารถเชื่อมต่อกับนาฬิกา Garminได้นะครับ แน่นอนว่า Zwift Run Pod ก็สามารถจับคู่เชื่อมต่อกับ Forerunner 245 ได้เช่นกัน โดยในวิธีนี้เราจะได้ค่าของรอบความเร็วและนับก้าวที่แม่นยำขึ้นกว่าเดิมด้วย หากใครที่อยากได้ค่าต่างๆที่แม่นยำมากขึ้น และเดิมมี Foot Pod อยู่แล้วเราก็แนะนำวิธีนี้เลยครับ