Garmin Venu 2 ยกให้เป็นสมาร์ทวอทช์ยุคใหม่จาก Garmin และเป็นอีกตระกูลที่แยกออกมาจาก Forerunner จึงทำให้ Venu มีจุดเด่นที่น่าสนใจด้วยการผสมผสานการออกกำลังกาย และไลฟ์สไตล์ที่เข้ากันได้อย่างลงตัว สามารถครอบคลุมการใช้งานด้วยระบบสัมผัสหน้าจอ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญยังมาพร้อมแผงหน้าจอ AMOLED Display ที่ทำให้การแสดงผลของสีสันมีความสดใส และรายละเอียดต่างๆมีความคมชัดมีมากยิ่งขึ้น จึงเรียกได้ว่า Venu 2 เป็นสมาร์ทวอทช์ Gen ใหม่
ที่เริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ ทั้งรูปแบบการใช้งาน Menu Interface ที่ถูกออกแบบเพื่อให้รองรับการแสดงผลหน้าจอ AMOLED ได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ถูกจำกัดการแสดงผลของสีสันอีกต่อไป ซึ่งก็แลกมาด้วยแบตเตอรี่ที่อาจจะใช้งานน้อยลงกว่าเดิม แต่ทาง Garmin ก็ได้ปรับปรุงให้รุ่น Venu 2 มีแบตเตอรี่ที่อึดขึ้น พร้อม Optimize ให้สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้นานสูงสุด 10 วัน เรียกได้ว่าไม่ธรรมดากับสมาร์ทวอทช์ออกกำลังกายที่ใส่ใจการใช้งานติดตามสุขภาพและฝึกซ้อม ไม่ใช่เแค่ขายความเป็นสมาร์ทวอทช์หน้าจอสดๆอย่างเดียว แต่แฝงประสบการณ์การใช้งานออกกำลังกายที่ Garmin พยายามถ่ายทอดให้กับผู้ใช้งานได้อย่างแท้จริง
ต้นกำเนิด VENU Series
ขอเล่าย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของตระกูล Garmin Venu เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกของ Garmin Vivoactive นั้นเอง ในช่วงเวลานั้นรุ่น Vivoactive 3 เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ไม่นานก็ได้เปิดตัว Garmin Venu ขึ้นมาเป็นรุ่นแรก โดยได้นำจุดเด่นจาก Garmin Vivoactive ที่เป็นที่นิยมมาอัพเกรดใหม่ ทั้งวัสดุและประสิทธิภาพของการใช้งานให้เหนือไปอีกขั้น จึงทำให้ Garmin Venu เป็นพี่ใหญ่สุด และรองลงมาก็เป็น Garmin Vivoactive 4 ที่ตัดบางฟังก์ชั่นออกไป
แล้วอยู่ๆ Venu SQ ก็โผล่เข้ามา... ในตอนนั้น Garmin เปิดตัว Venu SQ ในช่วงที่ Garmin Venu (รุ่นแรก) เปิดตัวมาสักระยะแล้ว โดยได้ลดการผลิตลงไป เพื่อเตรียมตัวสู่การผลิตรุ่นที่ 2 จึงทำให้ในช่วงนั้น Garmin Venu SQ กลายเป็นรุ่นยอดฮิตอย่างถล่มทลาย ทั้งราคาที่เปิดมาไม่ถึงหมื่นกลับได้ฟังก์ชั่นที่จัดเต็ม แต่สุดท้ายแล้ว Venu SQ เป็นรุ่นน้องเล็กสุดของตระกูล VENU Series นั้นเอง ที่ตัดแผงหน้าจอ AMOLED และบางฟังก์ชั่นออก เพื่อทำราคาได้ถูกลงกว่าเดิม ถึงตอนนี้น่าจะรู้จัก VENU Series ไม่มากก็น้อยแล้ว สรุปง่ายๆ ถ้าเน้นความคุ้มค่าไม่ได้ต้องการความหวือหวา ใส่แล้วดูดี Venu SQ ถือว่าเหมาะสม แต่ถ้าต้องการความพรีเมี่ยมของวัสดุ ฟังก์ชั่นจัดเต็มๆต้องอัพเกรดขึ้นมาเป็น Garmin VENU 2 นั้นเอง
ความแตกต่าง VENU 2 กับ VENU 2S
ในรุ่น Garmin Venu 2 Series ได้แบ่งออกเป็น 2 ย่อย ซึ่งต้องมีคนสงสัยอย่างแน่ๆว่าต่างกันยังไง ?
ภายนอกแตกต่างที่ขนาด ถ้ามีคำว่า "S" ต่อท้ายแปลว่ารุ่นนั้นมีขนาดเล็ก หรือมาจาก Small นั้นเอง ส่วนภายในเหมือนกัน แต่อาจจะมีแบตเตอรี่ที่น้อยกว่า VENU 2 ขนาดปกตินั้นเอง
- Venu 2 : หน้าปัด 45 mm / สาย 22 mm (ความละเอียดหน้าจอ 416x416px)
- Venu 2S : หน้าปัด 40 mm / สาย 18 mm (ความละเอียดหน้าจอ 360x360px)
ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเทียบกับรุ่นเดิมอย่าง Garmin Venu (รุ่นแรก) ที่มีขนาดหน้าปัด 43 mm / สาย 20 mm จะเห็นได้ว่าคราวนี้ VENU 2 Series ได้แบ่งขนาดได้ชัดเจนขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับขนาดข้อมือผู้สวมใส่ได้ลงตัวกว่าเดิม
ดีไซน์
ถ้าดูในเรื่องการออกแบบ Venu 2 Series แทบไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิม โดยจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่ในรายละเอียดเล็กๆน้อย เช่น ดีไซน์กรอบหน้าปัดเท่านั้น ส่วนเรื่องดีไซน์ภายนอกขอสรุปดังนี้
- กรอบหน้าปัดทำจากวัสดุสแตนเลส
- กระจกหน้าจอรูปแบบ Gorilla Glass 3
- ปุ่มกด 2 ปุ่ม
- ควบคุมด้วยระบบสัมผัสหน้าจอ (Touch Screen)
- เปลี่ยนสายนาฬิกาง่ายด้วยระบบ Quick Release
สีของตัวเรือน
- Venu 2 : มีให้เลือก 2 สี Black, Granite Blue
- Venu 2S : มีให้เลือก 4 สี Mist Gray, Graphite, Light Sand, White
สิ่งใหม่ใน VENU 2 Series
ถ้ามองเพียงภายนอกของ Venu 2 Series อาจจะดูเปลี่ยนแปลงไม่เยอะ แต่ทาง Garmin ได้อัพเกรดใหม่ให้มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ภายใน จะมีอะไรบ้างดูต่อได้เลย
เซ็นเซอร์
เปิดตัว Garmin Elevate เวอร์ชั่นที่ 4 ที่อยู่ใน VENU 2 Series ได้อัพเกรดการวาง IR sensors และเพิ่มเป็น 2 จุด เพื่อช่วยทำให้การวัดออกซิเจนในเลือด (PulseOx) มีความแม่นยำสูงสุด สังเกตุเห็นการจัดวางเซ็นเซอร์ใต้ตัวเรือนได้ขยับรูปแบบของ Optical Sensor ให้อยู่ใกล้กันมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนไปใช้ Garmin Elevate V.4 นั้นเอง จึงทำให้การจัดวางเปลี่ยนไปทั้งหมด
เร็วแรงขึ้น
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก้าวไปไกล จึงทำให้ Venu 2 Series ได้อัพเกรดการประมวลผล (Processor & GPU) ให้แรงยิ่งขึ้น เป็นผลดีต่อการแสดงผลรูปแบบกราฟฟิคได้สวยงาม และลื่นไหลกว่ารุ่นก่อนๆ
หน้าจอสวยงาม
อย่างที่บอกไปหน้าจอ Venu 2 Series เป็นหน้าจอรูปแบบ AMOLED display ที่แสดงผลสีสันได้หลากหลายเฉดสี จึงทำให้มีความจัดจ้านของสีสัน และเก็บรายละเอียดภาพ หรือตัวอักษรได้คมชัดขึ้น ในเรื่องของหน้าจอทาง Garmin ได้ปรับปรุงให้แสงของหน้าจอมีความสว่างขึ้น และการสัมผัสควบคุมตอบสนองได้ดีขึ้น
แบตเตอรี่
ถ้าเทียบกับแบรนด์อื่นๆแล้ว กับสมาร์ทวอทช์ที่ใช้หน้าจอ AMOLED จะมีข้อเสียอยู่ที่แบตเตอรี่ เพราะถ้าเรายิ่งใช้งานในชีวิตประจำวันบ่อย ปริมาณแบตเตอรี่จะถูกเผาเผลาญไปกับการแสดงผลที่ต้องดึงพลังงานแบตเตอรี่มาช่วยแสดงผลสีสัน จึงทำให้อาจจะใช้งานได้เพียง 1-2 วันเท่านั้น หรือถ้าใส่ออกกำลังกายนานๆก็อาจจะไม่เหมาะสม แต่พอมาเป็น VENU 2 Series ทาง Garmin ได้ทำการบ้านมาอย่างดี เพราะข้อดีอีกอย่างของ AMOLED อยู่ที่ความมืดสนิท ยิ่งหน้าจอพื้นหลังของสมาร์ทวอทช์เป็นสีดำมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น เนื่องจากการแสดงผลสีดำของ AMOLED Display จะไม่เปร่งแสงสีดำออกมา แต่จะเป็นการปิดแหล่งกำเนิดแสง ทำให้ได้ความดำสนิท และลดการใช้พลังงานของแบตเตอรี่ ทาง Garmin จึงได้ออกแบบ Menu Interface พื้นหลังเน้นในโทนสีดำเป็นหลัก และเลือกใช้สีสันกับการแสดงผลของกราฟฟิคที่สำคัญ เพื่อความสวยงานที่ลงตัวที่สุดนั้นเอง
ระยะเวลาของแบตเตอรี่
- Venu 2 : สมาร์ทวอทช์สูงสุด 11 วัน / โหมด GPS + ฟังเพลง สูงสุด 8 ชม. / โหมด GPS สูงสุด 22 ชม.
- Venu 2S : สมาร์ทวอทช์สูงสุด 10 วัน / โหมด GPS + ฟังเพลง สูงสุด 7 ชม. / โหมด GPS สูงสุด 19 ชม.
จะเห็นได้ว่า Venu 2 มีแบตเตอรี่อึดกว่า ด้วยขนาดของตัวเรือนใหญ่กว่า จึงมีพื้นที่ของแบตเตอรี่มากกว่านั้นเอง
หน่วยความจำเยอะขึ้น
Venu 2 Series มีฟังก์ชั่นมิวสิค หรือการฟังเพลงผ่านนาฬิกา รองรับการฟังเพลงในรูปแบบ Music storage และ Streaming ที่เป็นที่นิยมในขณะนี้ เพราะไม่ต้องมานั่งหาไฟล์เพลง Mp3 อีกต่อไป สามารถจัดเพลย์ลิสทั้งใน Spotify หรือ Joox (แบบพรีเมี่ยมทั้งสอง) แล้วซิงค์แบบไร้สายผ่าน Wi-Fi โดยเชื่อมต่อฟังเพลงผ่านหูฟังบลูทูธ
หน่วยความจำจากรุ่นเดิม Venu รุ่นแรกให้มาเพียง 3 GB เพื่อจัดเก็บเพลง พอมาเป็น Venu 2 Series ให้ Music Storage มาถึง 7 GB เรียกได้ว่ามีพื้นที่สำหรับเก็บเพลงอย่างจุใจประมาณ 650 เพลง
Connect IQ 4.0
Venu 2 Series สามารถใช้งานร่วมกับ Connect IQ 4.0 เป็นรุ่นแรกๆของ Garmin โดย Connect IQ 4.0 ได้เพิ่มการแสดงผลของกราฟิคที่มากขึ้น รองรับการดาวโหลด หน้าปัดนาฬิกา, Widget, ช่องข้อมูล และแอพ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและขีดจำกัดของการใช้งานได้มากขึ้น อย่างเช่นหน้าปัดนาฬิกาจากนักพัฒนาทั่วโลก หรือบริการ Streaming อย่าง Spotify และ Joox เพื่อติดตั้งใช้งานบนนาฬิกา
การแสดงผลที่ล้ำกว่าเดิม
แต่เดิมการแสดงผล Widget ของทาง Garmin จะเน้นตัวเลจข้อมูล โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงามมากเท่าไหร่ พอมาเป็น VENU 2 Series ได้อัพเกรดครั้งใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกๆที่ได้ใช้งาน Menu Interface ของการแสดง Widget ที่ล้ำทันสมัยขึ้น ทั้งสีสันที่มีความจัดจ้าน และข้อมูลจากเดิมที่เป็นตัวเลขที่ดูแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ได้ถูกเปลี่ยนเป็นแท่นกราฟเพื่อทำให้ได้เห็นความข้อมูลภาพรวมทั้งหมดมากยิ่งขึ้น
การแสดงผลของ Widget ใน VENU 2 Series จะแสดงผลพร้อมกัน 3 ข้อมูล เมื่อเลื่อนจากหน้าปัดหลัก แต่ถ้าต้องการดูข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้นสามารถกดเข้าไปดูเพิ่มขึ้นได้ โดยจะแสดงผลในรูปแบบข้อมูล และแท่นกราฟเปรียบเทียบปริมาณ
โหมดพลังประหยัดพลังงานแบตเตอรี่
สามารถเปิดใช้งาน Battery Saver Mode เพื่อปิดบางฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็น ซึ่งทำให้ยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้นตัวอย่าง (2S - 2) เพิ่มขึ้นสูงสุด 11-12 วัน จากเดิม 10-11 วัน ถือได้ว่าไม่ต้องรีบชาร์จเพิ่มขึ้นอีก 1 วัน
Firstbeat และ Sleep Score
เพิ่มฟังก์ชั่นตรวจวัดการนอนหลับขั้นสูง เพื่อการติดตามที่มีคุณภาพ รวมไปถึงวิเคราะห์การนอนหลับให้ภาพรวมสุขภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสำหรับคนที่ต้องการความง่าย ยังมีฟังก์ชั่นคะแนนการนอนหลับ (Sleep Score) ที่จะแสดงคะแนน 1-100 ให้ได้รับรู้ว่าการนอนหลับที่ผ่านมาอยู่เกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งจะแสดงผลให้เห็นผ่านนาฬิกาเมื่อตื่นขึ้นมา
Body Battery และ Fitness Age
2 ฟังก์ชั่นยอดนนิยมสำหรับสายสุขภาพ ซึ่งก็มีอยู่ในนาฬิกา Garmin มาสักระยะแล้ว แต่ใน Venu 2 ได้อัพเกรดให้แม่นยำขึ้น
- Body Battery : เพิ่มอัลกอริทึมช่วยวิเคราะห์ผลการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันเพื่อทำให้การนอนหลับได้ดีขึ้น
- Fitness Age : ติดตามผลสุขภาพ 24×7 คำนวณกับข้อมูลอัลกอริทึมจาก Garmin และ BMI เพื่อให้ได้ข้อมูลของอายุสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
Health Snapshot
เป็นอีกฟังก์ชั่นสุขภาพใหม่ที่น่าสนใจ Health Snapshot เป็นโหมดเฉพาะสำหรับตรวจวัดของมูลสุขภาพ ในช่วงเวลา 2 นาที เพื่อหาค่าเฉลี่ยออกมา เพื่อการวัดผลที่แม่นยำขึ้นมากกว่าการวัดแบบ Real Time นั้นเอง
แสดงกราฟฟิคของกลุ่มกล้ามเนื้อ
เพิ่มความล้ำให้กับ Venu 2 Series ไปอีกขั้น ด้วยการแสดงผลรูปแบบกราฟฟิคให้เห็นกลุ่มกล้ามเนื้อทั่วทั้งร่างกายเพื่อใช้ในการฝึกซ้อมเวทเทรนนิ่ง โดยสามารถออกแบบการฝึกซ้อม หรือแสดงผลกล้ามเนื้อที่จะได้ความแข็งแรงจากท่าทางที่เล่นอยู่ จึงทำให้เข้าใจในการฝึกซ้อมมากยิ่งขึ้น
โหมดกิจกรรมใหม่ๆ
สำหรับโหมดพื้นฐานที่เคยมาอย่าง วิ่ง, ปั่น, ว่ายน้ำ และอื่นๆมาให้ครบถ้วน แต่ใน Venu 2 Series ได้เพิ่มโหมด ไต่เขา, HIIT, ปีนเขาในร่ม และปืนเขาจำลอง โดยมีโหมดที่โดดเด่นอย่าง HIIT ที่เหมาะกับคนที่ต้องการฝึกซ้อมกิจกรรมฟิตเนสในรูปแบบ Interval โดยสามารถกำหนดช่วงเวลา และรอบการฝึกได้อิสระ รวมไปถึงการวางโปรแกรมฝึกไว้ล่วงหน้า เพื่อนำมาใช้เสริมสร้างความท้าทายมากขึ้น อีกทั้งยังรองรับการแสดงผลของอนิเมชั่นของขั้นตอนแบบเคลื่อนไหว และคำแนะนำ สำหรับการออกกำลังกายในรูปแบบ Tabata, AMRAP, EMOM และการกำหนดเอง
ฟังก์ชั่นที่น่าสนใจ
ก่อนที่จะสรุปปิดท้าย มาดูฟังก์ชั่นที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง
- ระบบ GPS และ GLONASS & Galileo ในตัว สำหรับติดตามกิจกรรมกลางแจ้งได้แม่นยำ
- รองรับการเก็บเพลงในนาฬิกา และดาวโหลดบริการ Streaming
- การแจ้งเตือนอัตราการเต้นยองหัวใจผิดปกติ
- รองรับ Garmin Pay ระบบการชำระเงินไร้สายผ่านบัตรเครดิต
- ระบบตรวจจับเหตุการณ์ฉุกเฉิกในโหมดออกกำลังกาย เช่น เดิน, วิ่ง และจักรยาน
- โหมดกีฬา & กิจกรรม เช่น วิ่ง, ปั่น, ว่ายน้ำ, กอล์ฟ, โยคะ, พิลาทีส, คาร์ดิโอ, ลู่วิ่ง, การแข่งขัน ฯลฯ
- เซ็นเซอร์รูปแบบ Optical มาพร้อม PulseOx สำหรับติดตามออกซิเจนในเลือดตลอดทั้งวัน
- ฟังก์ชั่นติดตามการดื่มน้ำ, วัดชีพจร 24 ชม. และวัดความเครียด
- ฟังก์ชั่นสำหรับผู้หญิง ติดตามรอบเดือนและบันทึกข้อมูล
- รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมทั้ง ANT+ Bluetooth Smart sensors
- เมื่อเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน รองรับการแจ้งเตือนจากแอพต่างๆ
- ฟังก์ชั่น LiveTrack และ Safety Alerts สำหรับแชร์เส้นทางการออกกำลังกาย
สรุป
มาถึงตอนจบของ Venu 2 Series ที่ถูกใจคนที่กำลังมองหาสมาร์ทวอทช์ออกกำลังกายดีๆสักหนึ่งเรือน ถ้าคุณกำลังมองหา "สมาร์ทวอทช์ + ออกกำลังกาย + สุขภาพ" และตบท้ายด้วยความพรีเมี่ยม = Venu 2 Series คือคำตอบที่ตรงใจ เพราะในระหว่างการใช้งานคุณจะได้ประสบการณ์ของการออกกำลังกาย และติดตามสุขภาพในชีวิตประจำวันที่สมาร์ทวอทช์แบรนด์อื่นๆให้ไม่ได้ แต่ถ้าคุณต้องการเพียง "สมาร์ทวอทช์ " ได้ฟังก์ชั่นล้ำๆ สั่งงานด้วยเสียง หรือโหลดแอพแปลกๆ ก็ถือว่า Venu 2 Series ไม่ได้ตอบโจทย์