
ปัจจุบันนี้นาฬิกาวัดชีพจรกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนยุคใหม่ ด้วยความอัจฉริยะในเรื่องการติดตามสุขภาพและกีฬา รวมไปถึงสามารถสวมใส่ใช้งานแทนนาฬิกาปกติได้อย่างลงตัว ซึ่งบางคนที่ใช้งานนาฬิกาวัดชีพจรเกิดข้อสงสัย ว่าทำไมนาฬิกาที่ตนเองสวมใส่อยู่ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง บางคนเชื่อว่า แสงไฟ LED สีเขียว บนเซ็นเซอร์วัดชีพจร ส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้ หรือเกิดผดผื่น ขณะสวมใส่ จึงเชื่อไปว่า แสงไฟ LED วัดชีพจร มีผลต่อผิวหนังของเรา วันนี้ทีมงาน TSMACTIVE จะมาไขข้อสงสัยกับปัญหาเหล่านี้ ให้เข้าใจถึงสาเหตุพร้อมวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอากาแพ้ หรือระคายเคืองนี้อีกต่อไป
สาเหตุให้ที่ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ?
โดยปกติแล้วนาฬิกาวัดชีพจรรุ่นใหม่ๆ จะออกแบบมาให้รองรับการสวมใส่ได้ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่การนอนหลับ, ในชีวิตประจำวัน และการออกกำลังกาย โดยมีความใกล้ชิดกับผิวหนังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแพทย์ผิวหนังได้ระบุไว้ว่าผื่นหรืออาการระคายเคืองที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากการสัมผัสโดยเป็นโรคผิวหนังอักเสบรูปแบบทั่วไป เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้, สารระคายเคือง หรือเป็นเพียงแค่การเสียดสีกันเท่านั้น โดยมีสาเหตุหลักๆดังนี้
- ผิวหนังมีเหงื่อออกสะสมมากโดยไม่มีช่องระบายกาศ
- สวมใส่ตลอดเวลาโดยไม่ทำความสะอาด
- มีการเสียดสีกับผิวหนัง
- สวมใส่นาฬิกาแน่นจนเกินไป
- ผิวหนังบอบบางก่อให้เกิดความระคายเคืองสูง
สรุปได้ว่า การสัมผัสแสงไฟบริเวณเซ็นเซอร์วัดชีพจร LED ไม่ได้ส่งผลต่อผิวหนังเราแต่อย่างใด
สัญญาณของการระคายเคืองผิว
หากใส่นาฬิกาวัดชีพจรมาสักระยะหนึ่ง แนะนำให้สังเกตอาการเหล่านี้
- ผื่นแดง
- อาการคัน
- ผิวแห้ง แตกเป็นขุย
- ตุ่มพอง
- บวม และแสบร้อน
แนะนำวิธีป้องกัน
1. ทำความสะอาดอุปกรณ์
ควรตรวจเช็คนาฬิกาวัดชีพจร และข้อมือของเราที่ได้สวมใส่นาฬิกาวัดชีพจรอยู่ทุกๆวัน ได้มีการทำความสะอาดคราบเหงื่อออกหมดจดหรือไม่? เพราะถ้ายิ่งมีคราบเหงื่อตกค้างบนผิวหนัง หรืออุปกรณ์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งก่อให้เกิดอาการระคายเคืองสูง ดังนั้นควรหมั่นทำความสะอาดทุกครั้งด้วยการถอดนาฬิกาวัดชีพจรออกมาทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า หรือขจัดคราบเหงื่อด้วยสบู่อ่อนๆ โดยเช็คให้แห้งด้วยผ้าที่ขนนุ่มก่อนสวมใส่ และหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก หรือตัวทำละลายประเภทกรด
เมื่อไหร่ที่ควรทำความสะอาดนาฬิกา ?
- เหงื่อออกมาก : เช่น ควรทำสะอาดทุกครั้งหลังออกกำลังกาย หรือทุกๆวัน
- เหงื่อออกน้อย : เช่น สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ไม่มีกิจกรรมออกกำลังกายมาก ควรทำความสะอาดอาทิตย์ล่ะ 2-3 ครั้ง
*การล้างทั้งตัวเรือนเฉพาะนาฬิการุ่นที่กันได้น้ำได้เท่านั้น กรณีนาฬิกาที่ไม่กันน้ำให้นำผ้าชุบน้ำมาทำความสะอาด
เมื่อสวมใส่ตลอดเวลา และรู้สึกระคายเคือง แนะนำให้หาช่วงเวลาถอดนาฬิกาวัดชีพจรออกมาพักข้อมือเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง และทำความสะอาดผิว เพื่อผ่อนคลายผิวหนังให้เตรียมพร้อมกับการสวมใส่ใหม่ในครั้งต่อไป
2. สวมใส่ให้พอดีข้อมือ
เราควรเลือกใส่นาฬิกาวัดชีพจรให้พอดีกับข้อมือ ไม่ควรเลือกนาฬิกาให้เล็กหรือใหญ่เกินไปกับข้อมือ ซึ่งมีปัจจัยหลายๆอย่าง ถ้าเราเลือกนาฬิกาไม่เหมาะกับข้อมือ อย่างเช่น ความนูนของเซ็นเซอร์ที่สัมผัสกับผิวหนังไม่แนบแน่น, สายที่ใหญ่หรือเล็กเกินไปกับข้อมือ ทำให้เกิดการเสียดสี รวมไปถึงการสวมใส่ที่ไม่ถูกวิธีจนเป็นต้นเหตุของการระคายเคือง
แนะนำลักษณะการสวมใส่
- ออกกำลังกาย : ควรปรับสายนาฬิกาให้แน่นกระชับกับข้อมือมากที่สุด (ไม่ควรแน่นหรือหลวมจนเกิดไป)
- ระหว่างวัน : สามารถลดความแน่นกระชับของสายได้ 1 ระดับจากการสวมใส่แบบออกกำลังกาย
- นอนหลับ : แนะนำให้เปลี่ยนข้อมือสวมใส่จากข้อมือข้างที่ใส่มาตลอดทั้งวัน โดยระดับความแน่นกระชับมีความใกล้เคียงกับการใส่ในระหว่างวัน
รู้หรือไม่?
ควรใส่นาฬิกาวัดชีพจรยังไงให้ถูกต้อง
ควรสวมใส่นาฬิกาวัดชีพจรให้ถูกตำแหน่งบนข้อมือ (จากรูปตัวอย่าง) โดยเว้นระยะจากกระดูกข้อมือประมาณ 1 นิ้วมือ เพื่อทำให้นาฬิกาอยู่ในตำแหน่งที่โอบรัดข้อมือได้แนบสนิทที่สุด ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวัดชีพจรให้มีความแม่นยำ และยังช่วยลดการเสียดสีระหว่างนาฬิกาวัดชีพจรกับข้อมืออีกด้วย
3. หลีกเลี่ยงสิ่งแปลกปลอม
ข้อนี้เป็นข้อที่หลายๆคนอาจมองข้าม เพราะในระหว่างวันที่ผิวหนังต้องเจอกับ น้ำหอม, โลชั่นทาผิว, ครีมกันแดด และยาทากันยุงในบริเวณข้อมือ ซึ่งหากผิวหนังเราเจอกับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ มีโอกาสทำให้ผิวหนังเกิดความระคายเคืองกับวัสดุของนาฬิกาวัดชีพจร และยิ่งเหงื่อออกเยอะๆยิ่งทำให้ผิวหนังของเรามีโอกาสระคายเคืองสูง ดังนั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทาครีมต่างๆลงบนบริเวณข้อมือที่สวมใส่นาฬิกาวัดชีพจร หรือก่อนสวมใส่ให้ทำความสะอาดข้อมือด้วยสบู่อ่อนๆและล้างด้วยน้ำสะอาด
4. เปลี่ยนรูปแบบสายนาฬิกา
มาถึงข้อสุดท้าย อยากให้ทุกคนที่มีอาการระคายเคือง หรืออาการแพ้ ได้ลองเปลี่ยนสายนาฬิกาจากสายที่คุ้นเคยเป็นสายนาฬิกาใหม่ๆ และไม่ควรเลือกใส่สายนาฬิการูปแบบเดิมๆที่เคยแพ้ อย่างเช่น เคยใส่สายนาฬิกากับแบรนด์ xxx แล้วเกิดอาการแพ้ ให้ลองเลือกเปลี่ยนสายนาฬิกาในวัสดุใหม่ หรือเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกับสายที่เคยมีอาการแพ้
ตัวอย่างสายนาฬิกาจากแบรนด์
- Coros : มีให้เลือกหลากวัสดุ เช่น สาย Nylon และสายซิลิโคนพร้อมรูระบายอากาศ
- Garmin : เป็นแบรนด์ที่มีรูปแบบสายนาฬิกาให้เลือกมาที่สุด สามารถเลือกได้ตามประเภทการใช้งาน
- Suunto : มีลักษณะสายให้เลือกมากมาย โดยวัสดุของสายมีคุณภาพสูงแต่จะมีความหนามากกว่าแบรนด์อื่นๆ
- Fitbit : จะเน้นไปที่สายซิลิโคนเป็นหลัก ซึ่งมีความหลากหลายของดีไซน์ ลักษณะสายมีความอ่อนนุ่มมากที่สุด
ลองเปลี่ยนสายที่เหมาะดูไหม?
ลักษณะของสายนาฬิกา
- สายซิลิโคน : เหมาะสำหรับการออกกำลังกายที่ต้องความกระชับของข้อมือมากที่สุด และคนที่มีเหงื่อมากๆควรเลือกใช้สายซิลิโคนที่มีรูระบายอากาศรอบทิศทาง
- สาย Nylon : เหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวันและออกกำลังกาย ด้วยการโอบรัดสายที่ไม่แน่นจนเกินไป แต่จะไม่เหมาะกับคนที่มีเหงื่อออกมากๆ
- สายสแตนเลส : เหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวันปกติ โดยมีความกระชับอยู่ระดับกลางระหส่างสายซิลิโคนและสาย Nylon
โดยปกติแล้วนาฬิกาวัดชีพจรจะมาพร้อมสายที่เป็นวัดสุซิลิโคน เคยสงสัยไหม? ทำไมถึงนิยมใช้สายซิลิโคนร่วมกับนาฬิกาวัดชีพจร เพราะว่าวัสดุซิลิโคน มีข้อดีที่แห้งไว ทนต่อเหงื่อ ทำความสะอาดง่าย และมีความยืดหยุ่นสูง แต่ผิวหนังบางคนก็พบอาการแพ้กับสายซิลิโคน เนื่องด้วยผิวหนังที่บอบบางจึงทำให้เกิดการระคายเคืองที่ง่ายกว่าคนปกติ ซึ่งในปัจจุบันนี้นาฬิกาวัดชีพจรหลายๆแบรนด์ ได้มีทางเลือกของสายนาฬิกาให้ผู้ใช้งานได้เลือกมากขึ้น อาทิเช่น สาย Nylon ที่มีผิวสัมผัสที่ลื่นกว่าสายซิลิโคน, สายสแตนเลสที่มีความทนทานสูง และสายซิลิโคนที่มีรูระบายอากาศรอบทิศทาง เพื่อเป็นทางออกให้ผู้ใช้งานได้เลือกวัสดุของสายนาฬิกาให้เหมาะสมกับผิวหนังตนเอง
ทั้งหมดนี้ เป็นสาเหตุและวิธีป้องกันไม่ให้ผิวหนังระคายเคืองหรือเกิดอาการแพ้ ที่เราได้รวบรวมมาให้เพื่อนๆ สุดท้ายนี้อากาศในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่จะร้อนชื้น จึงทำให้เหงื่อและความชื้นสะสมของผิวหนังเกิดขึ้นค่อนข้างสูง ดังนั้นคนที่มีผิวหนังบอบบางควรคำนึงถึงการวิธีป้องกัน และเลือกใช้งานอุปกรณ์ให้ตรงกับลักษณะของตังเองมากที่สุด