การใช้เครื่องมือวัดชีพจรไม่ว่าจะเป็นแบบมอนิเตอร์หรือในรูปของนาฬิกา ต่างมีจุดประสงค์เพื่อจับระดับชีพจรของเราให้อยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้ อันนี้แหล่ะคือคุณสมบัติพื้นฐานของนาฬิกาวัดชีพจร แต่สำหรับบางคนนั้นอาจต้องการคุณสมบัติที่มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลลงคอมพิวเตอร์/สมาร์ทโฟน การนับระยะทาง การคำนวนอื่นๆอีกมายมาย บทความนี้จะทำหน้าที่เป็นไกด์ให้พอเห็นภาพว่าใคร? นักกีฬาประเภทใด? จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์วัดชีพจรกันบ้าง

เดินจ๊อกกิ้ง: การเดินช้าๆ มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก บางคนยังคิดว่าการวิ่งเท่านั้นที่ลดไขมัน .. ผิดแล้ว!! การเดินต่างหาก ใช้ไขมันเป็นพลังงานหลัก แต่ขณะเดียวกัน ฮาร์ทเรตเป้าหมายต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่เดินช้าๆชิวๆ แล้วน้ำหนักจะลงนะ!  

นักวิ่ง: สิ่งสำคัญที่สุดในการวิ่งคือ รักษาระดับชีพจรให้คงที่ ไม่สูงเกินจนอัตราย ไม่ต่ำจนไม่ได้อะไร..  ถ้าเราไม่มีอุปกรณ์วัดชีพจร เราไม่มีทางรู้ว่าเราเหนื่อยขนาดไหนในขณะที่วิ่งอยู่.. ลองสังเกตุช่วงเริ่มวิ่งแรกๆ เราจะรู้สึกเหนื่อยเป็นพิเศษ.. พอวิ่งไปซักพักจนร่างกายปรับให้เข้าที่ คราวนี้เริ่มไม่ค่อยเหนื่อยแล้ว.. แต่แท้ที่จริงระดับชีพจรของทั้งสองช่วงนั้นเป็นระดับเดียวกัน! ด้วยเหตุนี้เอง การแจ้งเตือนเมื่อระดับชีพจรสูงเกินไปเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักวิ่งฮาร์ดคอทั้งหลาย

นักปั่นจักรยาน: เป็นที่ทราบกันดี นักปั่นระดับโลกหลายๆคนใช้อุปกรณ์ HRM เป็นตัวช่วยเพิ่มความสามารถให้กับการปั่น.. อุปกรณ์เหล่านี้ติดตามวัดผลได้หลากหลายเช่น จังหวะในการปั่นจักรยาน ความหนักเบา ความเร็ว ระยะทาง บางรุ่นที่ติด GPS สามารถยกเส้นทางที่เราปั่น ขึ้นไปแสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว   

ปีนเขา สกี: เคยได้ยินเสียงหัวใจตัวเองไหมขณะเดินขึ้นเขา การมีอุปกรณ์ช่วยวัดชีพจรช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างดี แถมบางรุ่นสามารถวัดความสูงชันหรือแม้กระทั่งวัดความกดอากาศ เพื่อให้การเล่นกีฬาและการผจญภัยเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด  

คนที่กำลังลดน้ำหนัก/ลดความอ้วน: สิ่งแรกที่ต้องรู้คือแคลอรี่ เรียกง่ายๆว่าคนที่ต้องการจะลดน้ำหนักนั้น เปรียบเสมือนคนที่กำลังเก็บเงิน สถิติและตัวเลขเป็นเรื่องสำคัญ หลักการของการลดน้ำหนักสามารถอธิบายได้สั้นๆแค่ 1 บรรทัด นั่นก็คือ "ใช้"แคลอรี่ให้มากกว่า"รับ"แคลอรี่ แค่นี้แหล่ะ น้ำหนักลดแน่นอน.. พูดง่ายแต่ทำยาก(ที่สุด)  

ผู้ป่วยที่กำลังฟื้นฟูร่างกาย: การตอบสนองแบบเรลไทม์ ทำให้อุปกรณ์วัดชีพจรสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยที่กำลังทำกายภาพบำบัด เพราะการออกกำลังกายต้องเพิ่มความหนักขึ้นทีละนิดอย่างระมัดระวัง หากทำอะไรที่หนักเกินไป มากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยขึ้นได้