สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่กลับมาเป็นประเด็นให้พูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายโดยตรง และยิ่งมีผลกับคนที่ต้องออกไปทำงานหรือเล่นกีฬากลางแจ้งอยู่เป็นประจำ ซึ่งการวิ่งกลางแจ้งก็เป็นกิจกรรมที่มีความนิยมเป็นอันต้นๆ จึงไม่แปลกที่หลายๆ คนจะมีความกังวลในเรื่องนี้ และเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ต้องรู้ว่าช่วงไหนควรหรือไม่ควรออกไปวิ่งหากคุณต้องการออกไปวิ่งข้างนอกตามปกติ

 

ตรวจดูสภาพอากาศ

ฝุ่น PM 2.5 เป็นมลพิษทางอากาศที่ลอยอยู่ไปทั่ว ซึ่งจะมีความหนาแน่นของฝุ่นในแต่ละครั้งต่างกัน ก่อนออกจากบ้านควรประเมิณสภาพอากาศเบื้องต้นก่อน เพื่อไม่ให้ร่างกายเราต้องไปรับฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป โดยจะแบ่งระดับสถานการณ์ดังนี้

ระดับดี : สภาพอากาศปลอดโปร่ง มีลมพัดตามปกติ หายใจได้สะดวก
ระดับปานกลาง : อากาศร้อนเล็กน้อย มองไม่เห็นฝุ่น หายใจได้ตามปกติ (คนเป็นภูมิแพ้ควรหลีกเลี่ยง)
ระดับส่งผลต่อสุขภาพ : อากาศร้อนและไม่มีลม เห็นฝุ่นจางๆ (ควรหลีกเลี่ยง)
ระดับอันตราย : เห็นฝุ่นควันชัดเจนเป็นวงกว้าง อากาศอบอ้าวไม่มีลมพัด (ควรหลีกเลี่ยง)

 

ปริมาณการวิ่ง

หลังจากที่ได้มีการสังเกตุสภาพอากาศเบื้องต้นแล้ว หากพบว่าสภาพอากาศไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีแต่ระดับฝุ่นก็ไม่ได้มากจนเกินไปพอที่จะออกไปวิ่งข้างนอกได้ ซึ่งสำหรับใครที่มีการจัดตารางการวิ่งตลอดทั้งสัปดาห์ ขอแนะนำให้ลดปริมาณวิ่งนอกบ้านลงจากวิ่งทุกวันให้เหลือสัปดาห์ละ 1-2 วัน การทำเช่นนี้จะช่วยให้ร่างกายเราไม่สะสมฝุ่น PM2.5 มากเกินไปป้องกันผลข้างเคียงระยะยาว อย่างปอดทำงานผิดปกติ และยังช่วยให้ร่างกายมีความฟิตอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับนักวิ่งที่มีวินัยในการวิ่งก็ขอแนะนำให้แบ่งวันที่เหลือจากการวิ่งนอกบ้าน เป็นการฝึกซ้อมวิ่งลู่วิ่งอยู่ในที่ร่มแทน เตรียมความพร้อมร่างกายอย่างปลอดภัยและค่อยออกไปลองวิ่งสนามจริงแค่บางวันพอ

 

สุขภาพคนวิ่งประจำกับคนไม่วิ่ง

หากมีฝุ่นแบบนี้ก็ไม่ควรออกกำลังกายให้ปอดทำงานหนักใช่ไหม? ซึ่งมีการได้วิจัยตรวจสอบกลุ่มคนที่สัมผัส PM 2.5 เป็นประจำ เมื่อเทียบระหว่างคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายกับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ซึ่งคนที่มีการออกกำลังกายเป็นประจำจะสามารถลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลงได้

คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำและได้รับฝุ่นเข้าไปน้อยจะมีสุขภาพที่ดีกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายเลย แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นจากการสัมผัสมลพิษ แต่คุณก็สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการออกกำลังกาย

 

ผลข้างเคียงจากฝุ่น PM2.5

อาการระยะสั้น

แม้ว่าคุณจะมีสุขภาพที่ดีเป็นปกติแต่ก็อาจจะพบอาการชั่วคราว เช่น ระคายเคืองตา จมูก และคอ มีอาการไอ เสมหะ รู้สึกแน่นหน้าอกและหายใจถี่ ซึ่งอาการเหล่าเป็นผลข้างเคียงของสภาพอากาศแต่ก็จะหายไปเมื่ออากาศดีขึ้น

อาการคนมีโรคประจำตัว

หากคุณมีโรคเกี่ยวกับปอด รวมถึงโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะส่งผลให้ไม่สามารถหายใจได้ลึกหรือแรงเท่าปกติ และอาจมีอาการไอ รู้สึกไม่สบายหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หายใจถี่และเหนื่อยล้าผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และรับประทานยาอย่างเคร่งครัด

และสำหรับใครที่มีโรคหัวใจหรือหลอดเลือด การสัมผัส PM2.5 เป็นประจำก็อาจทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง ถึงจะไม่มีอาการโดยตรงเหมือนกับโรคทางปอด แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงตามในอนาคตเช่นกัน

  • อาการที่อาจบ่งบอกถึงปัญหาหัวใจที่รุนแรง ได้แก่ รู้สึกแน่นหน้าอกและไม่สบายตัว มีอาการบีบหรือเจ็บตรงกลางหน้าอกนานกว่าสองสามนาทีหรือหายไปแล้วก็กลับมามีอาการใหม่ หายใจถี่ หรือสัญญาณอื่นๆ อาจรวมถึงเหงื่อออกจนตัวเย็น คลื่นไส้และหน้ามืด หากมีอาการเช่นนี้ควรไปพบแพทย์
  • อาการของโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการชาหรืออ่อนแรงอย่างฉับพลัน เวียนศีรษะสูญเสียการทรงตัว และอาจมีปัญหาในการมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง หากมีอาการเช่นนี้ควรไปพบแพทย์

 

สำหรับนักวิ่งหรือคนที่ออกไปทำกิจกรรมข้างนอกควรหมั่นเช็คสภาพอากาศและสุขภาพตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิด ซึ่งการวิ่งออกกำลังกายก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายเรามีภูมิที่แข็งแรงขึ้น แต่ต้องระมัดระวังการวิ่งนอกบ้านในขณะที่ยังมีฝุ่น PM2.5 ในระดับปานกลาง เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียในระยะยาว